วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ดร.ปฐมพงษ์ ชำแหละ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง คัดค้าน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กำลังทำอะไร ?

ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ จาก ม.มหิดล  ชำแหละ   ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง 




       
 ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองซึ่งคัดค้านการการบรรจุคำว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ มาโดยตลอด ได้เขียนบทความชื่อ ‘สนับสนุนให้รัฐบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่...’ ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับออนไลน์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ผมอ่านแล้วก็รู้สึกอยากตอบโต้เพราะข้อคิดเห็นที่แสดงไปหลายอย่างคลาด เคลื่อน  ไม่เพียงเท่านั้น ความคิดเห็น ‘ส่วนตัว’ ของท่านดร.เจิมศักดิ์เหล่านี้ยังมีแพร่หลายไปทั่วระหว่างที่มีการหยั่งเสียงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญที่เพิ่งร่างขึ้นใหม่ ผมเห็นว่าประชาชนได้ข้อมูลจากดร.เจิมศักดิ์ไม่ครบถ้วน มีข่าวออกมาว่าการทำประชามติหรือประชาพิจารณ์ในที่ต่างๆ ของดร.เจิมศักดิ์ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ  หลายๆ กรณีเข้าลักษณะมัดมือชก  ด้วยวิธีเปิดซีดีที่ตนเองพูด (ซึ่งปรกติก็ค้านมิให้บัญญัติคำว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ลงในรัฐธรรมนูญ) อยู่แล้ว  ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี (pros and cons [arguments for and against]) อย่างละเอียดก่อนหน้าจะลงประชามติ ดังนั้น จะทำประชาพิจารณ์อย่างไร ก็จะได้ประชามติเหมือนเดิมคือมีคนต่อต้านตลอด   ผมจึงจำเป็นต้องเอาข้อเขียนของดร.เจิมศักดิ์มาตอบเป็นข้อๆ ดังนี้:-


 
ข้อที่ 1 : ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง กล่าวว่า

         ‘รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มีสภาพใช้บังคับจริง ตามหลักการการเมืองการปกครองประเทศในแบบ “นิติรัฐ” ดังนั้น ทุกถ้อยคำในรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่เพียงมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่ดีหรือสะท้อนความเป็นจริงของประเทศเท่านั้น แต่จะต้องมีผลบังคับ และมีการดำเนินการใช้บังคับในรูปกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต่อไปด้วย เช่นเดียวกับบางประเทศที่มีการบัญญัติว่า ‘ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ’ นั้น ก็มีการบังคับใช้ในเชิงกฎหมายตามมาด้วยว่า บรรดาศาสนาบัญญัติทั้งหลายจะมีผลบังคับใช้กับประชาชนในประเทศนั้นด้วย เช่น ศาสนาบัญญัติห้ามมิให้ดื่มสุราการดื่มสุราก็ถือเป็นการผิดกฎหมายเป็นต้น’
           
คำตอบ
         ‘‘ดร.เจิมศักดิ์เอาตัวอย่างที่ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์มาพิจารณา กล่าวคือมองเห็นแต่ภาพรวมหยาบๆ เอาความ
จริงบางส่วนมาสรุปทุกส่วนซึ่งผิดหลักตรรกะ (fallacy)   ในโลกนี้มีประเทศหลายประเทศที่ยกให้ศาสนา
ใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ         ดร.เจิมศักดิ์ไปเน้นเอาประเทศที่ประกาศให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติมาพิจารณา   ใกล้ไทยที่สุดก็คือมาเลเซีย   เกาะกลุ่มในโซนเดียวกันมากที่สุดคือตะวันออกกลาง  ดร.เจิมศักดิ์ลืมนึกถึงความจริงว่ายังมีอีกหลายประเทศเช่น พม่า ยกให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  อังกฤษ, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์ ฯลฯ ยกให้ศาสนาคริสต์(อาจจะต่างนิกาย)เป็นศาสนาประจำชาติหรือศาสนาหลักของประเทศแต่ไม่เคยเอาหลักคำสอนศาสนามาบังคับให้ประชาชนนับถือแต่อย่างใด
         ‘ ในการทำประชามติ  ผมทราบจากชาวพุทธที่ร่วมฟังว่ากลุ่มผู้จัดทำเคยตั้งคำถามทำนองว่า ‘ถ้าบัญญัติให้ ‘ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ’ แล้ว ใครดื่มเหล้าผิดศีล ๕ ถือว่าผิดกฎหมาย  มีใครยอมรับได้มั้ย?’  แน่นอน  ประชาชนทั่วไปที่ยังกินเหล้ากินเบียร์อยู่ก็ต้องถือว่าสุดโต่งคือรับไม่ได้
 ในความเป็นจริง ประโยชน์ของการบัญญัติให้ ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ในรัฐ ธรรม นูญก็คือการออกกฎหมายลูกมาควบคุมให้พระภิกษุสามเณรมีความประพฤติปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น  โดยการกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น
         ‘1.มีการจัดการศึกษาปริยัติธรรมให้แตกฉานทั่วทุกวัด ใครบวชแล้ว  ไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง ต้องมี
    บทลงโทษอย่างเด็ดขาดและเป็นรูปธรรม
         ‘2.รัฐมีส่วนสนับสนุนบุคลากรทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนทั้งระดับประถม
   และมัธยมต่างๆ ทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึง
         ‘3. เมื่อมีการละเมิดบํญญัติพระวินัยที่เป็นครุกาบัติ หรือแม้จะเป็นลหุกาบัติแต่ละเมิดเป็นอาจิณ ต้อง
มีบทลงโทษอย่างเฉียบขาด โดยเฉพาะคนต้องอาบัติปาราชิก   ต้องจับเข้าคุกและปรับด้วย
โดยสรุปแล้ว การบัญญัติประโยคดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้คณะสงฆ์สร้างบุคลากรที่ดีได้เพิ่มขึ้น, มีประสิทธิภาพในการเผยแผ่เพิ่มมากขึ้นและมีบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดพระวินัยระดับปาราชิก อย่างเด็ดขาด   ไม่ได้เน้นไปบังคับให้ฆราวาสรักษาศีล ๕ ใครละเมิดศีล ๕ ถือว่าผิดกฎหมายดังที่นายเจิมศักดิ์กล่าวอ้าง   สิ่งที่นายเจิมศักดิ์พูดออกมาจึงเกิดจากความฟุ้งซ่านของดร.เจิมศักดิ์เอง  คือพูดเอง  เออเองเสร็จสรรพ

ข้อที่ 2: ดร.เจิมศักดิ์ปิ่นทองกล่าวว่า

         ‘‘ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย “พุทธศักราช” 2540 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังพิจารณากันอยู่นี้ บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นเอกอัครศาสนูปภัมภก” นั่นก็มีผลบังคับในทางกฎหมายตามมาว่า พระประมุขของราชอาณาจักรไทยต้องเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ และทรงมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำใจ ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมอย่างบริบูรณ์ ทรงเป็นธรรมราชาอย่างแท้จริง ซึ่งในทางพฤตินัยก็เข้าใจได้ต่อไปว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของไทยอยู่แล้ว ดังนั้น การจะบัญญัติหรือไม่บัญญัติ “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องพิจารณาแค่ว่า ข้อเท็จจริงในประเทศเป็นอย่างไร? คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอะไร? หรือต้องการจะสื่อนัยยะหรือสัญลักษณ์ความหมายใดไว้ในรัฐธรรมนูญ? เท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่า หากบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดแล้วก็จะต้องมีการใช้บังคับแก่ประชาชนในประเทศในรูปกฎหมายอย่างจริงจังด้วย’
     
คำตอบ:
         ‘‘ดร.เจิมศักดิ์ต้องไม่ลืมว่า เมืองไทยเป็นนิติรัฐ (legal state) หมายความว่าเป็นรัฐที่ต้องอาศัยกฎหมายในการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง  บรรดากฎหมายทั้งหมดที่มี กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional Law) ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  รัฐธรรมนูญระบุว่าอย่างไร ต้องใช้บังคับอย่างนั้น    ดังนั้น    กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แม้รัฐธรรมนูญที่แล้วมา เช่น รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 จะใช้คำว่า ‘พุทธศักราช’ ก็ดี  มีคำว่า ‘พระ มหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ’ก็ดี  มีคำว่า ‘พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก’ก็ดี  แต่ไม่ได้หมายความว่า ‘พระพุทธศาสนาคือศาสนาประจำชาติ’ แต่อย่างใดไม่  ใครที่คิดอย่างนั้น ถือว่าคิดเข้าข้างตัวเอง  เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องมีความตรงไปตรงมา
สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ  ชินวัตร  นักวิชาการชาวพุทธได้ระบุคำว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ลงในตำราเรียน  แต่นายวินัย สะมะอุน ซึ่งเป็นมุสลิมคัดค้าน (ดังจดหมายลงวันที่  1 กุมภาพันธ์ 2546 ถึงอธิบดีกรมวิชาการ) บอกว่า ‘ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเรื่องศาสนาประจำชาติ  การจัดทำสาระควรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสาระเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร และหลักสูตร และหลักสูตรออกโดยอาศัยอำนาจพรบ.การศึกษาและพรบ.การศึกษาออกโดยอาศัยรัฐ ธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่บัญญัติเรื่องศาสนาประจำชาติก็ไม่ควรกำหนดไว้ในสาระดังกล่าวและน่าจะถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ’
นี่คือการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญตามที่เห็นตัวอักษรทั่วๆ ไป อธิบดีกรมวิชาการในสมัยนั้น  (หรือพูดรวมๆ ก็คือ คณะผู้บริหาร ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ในยุคสมัยของนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและดร.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี) ยอมรับโดยดุษฎี และสั่งให้กรมวิชาการตัดคำว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ออกจากตำราเรียนวิชาพระ พุทธศาสนาของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับชั้น
การที่นายวินัย สะมะอุนสามารถเคลื่อนไหวอย่างประสบความสำเร็จก็เพราะไม่มี่ใครเชื่อแนวคิดของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทองว่าแม้จะใช้คำว่า ‘พุทธศักราช’ ในรัฐธรรมนูญก็ดี  ‘พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ’ ก็ดี  ‘พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก’ ก็ดี ไม่ได้แปลว่าจะหมายความว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ดังที่นายเจิมศักดิ์เข้าใจแต่อย่างใดไม่’


ข้อที่ 3: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกล่าวว่า

         ‘‘พูดง่ายๆ ว่า รัฐธรรมนูญมิใช่จดหมายเหตุ หรือวิทยานิพนธ์ ที่จะเป็นการบันทึกสะท้อนข้อเท็จจริง หรือสื่อสัญลักษณ์ความหมายใดๆ เท่านั้น แต่จะต้องมีสภาพการบังคับในทางกฎหมายตามมาด้วย  การบัญญัติเรื่องศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ จึงต้องเป็นการระดับของ “ศาสนบัญญัติ” ให้มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมายเยี่ยง “รัฐบัญญัติ” อื่นๆ ด้วย  ดังนั้น หากต้องการให้รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ”จริง ก็ควรจะต้องพิจารณาด้วยว่า จะต้องมีการบังคับใช้ หรือต้องออกกฎหมายใดมาบังคับแก่ประชาชนและผู้ที่อยู่ในแวดวงศาสนา เพื่อให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ในเบื้องต้นมีประเด็นต่อไปนี้
         ‘1.บังคับให้มีการศึกษาของพระมหาวิทยาลัยสงฆ์และโรงเรียนของเณรซึ่งถือเป็นบุคลากรสำคัญของพระ พุทธศาสนาโดยจะต้องมีการ “สอบไล่พระและเณร” เพื่อประเมินความรู้ และยกระดับมาตรฐานการศึกษา
         ‘2.บังคับให้มีการส่งเสริมการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติสมาธิ เจริญสติปัญญาของประชาชนในประเทศ มีมาตร การให้เงินอุดหนุนหรือลดภาษีให้แก่ผู้บริจาค ผู้สนับสนุนการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนารวมถึงการบังคับการปฏิบัติธรรมในวันพระ
         ‘3.บังคับให้มีศูนย์การเรียนรู้ก่อนบวช เพื่อให้ผู้บวชสามารถศึกษาเรียนรู้ศาสนาพุทธก่อนจะบวช และบวชแล้วก็ยังต้องเรียนรู้ต่อไป โดยจะต้องให้พระอุปัชฌาย์เป็นผู้ดูแลพฤติกรรม การปฏิบัติ และการเรียนศาสนาต่อ ไปภายหลังการบวชอีกอย่างน้อย 5 ปี เพื่อมิให้พระใหม่ออกนอกลู่นอกทาง และให้การบวชเป็นไปเพื่อการศึกษาและปฏิบัติศาสนธรรมอย่างแท้จริง
         ‘4.บังคับให้มีมาตรการส่งเสริม ช่วยเหลือ ผู้ที่มีส่วนในการทำนุบำรุงศาสนา โดยเฉพาะผู้ที่บวชพระ หากบวชมากกว่า 5 ปี โดยที่ระหว่างนั้นปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ถูกต้อง อาจได้สิทธิในการทำงานหรือการรับราชการเป็นต้น
         ‘5.บังคับการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบของพระเณรอย่างจริงจัง และมีผลใช้บังคับในทางกฎหมายอย่างแท้จริง บนมาตรฐานที่เข้มงวดยิ่งกว่าการตรวจสอบข้าราชการและนักการเมือง อาจจะต้องมีหน่วยงานในลักษณะคล้ายๆ กับ ป.ป.ช.ขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบวงการสงฆ์โดยเฉพาะ เช่นต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินของผู้บวช ทั้งก่อนและหลังการบวช รวมไปถึงหลังจากลาสิกขาบทแล้ว เพื่อป้องกันการบวชเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน โดยถือว่าทรัพย์สินและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างการบวชเป็นของศาสนาส่วนรวม เงินบริจาคทุกบาททุกสตางค์ก็ต้องตกเป็นของวัด เพราะฉะนั้น ปปง. และสตง. ก็ควรต้องเข้ามาบีบทบาทในการตรวจสอบการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินในแวดวงสงฆ์เพื่อสร้างธรรมาภิบาลในวงการสงฆ์
         ‘นอกจากนี้ ยังควรต้องมีหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สมบัติของพุทธศาสนาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นที่ดินวัดต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับกรมธนารักษ์ที่ดูแลที่ดินสมบัติของรัฐ และควรจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลการก่อสร้างต่างๆของวัดทั่วประเทศคล้ายๆ กรมโยธาธิการที่คอยดูแลงานก่อสร้างของรัฐ
         ‘6.วัดจะต้องเป็นวัดอย่างแท้จริง คือ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์อย่างแท้จริง โดยตัดขาดจากพุทธพาณิชย์ พระเครื่อง หรือและผลประโยชน์ในทางธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่การเผาศพ ก็อาจจะต้องแยกขาดจากวัด เพื่อให้มืออาชีพที่มีเทคโนโลยีสะอาด มีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาจัดการโดยที่พระสงฆ์ยังคงปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น    
         ‘7.บังคับให้มีตำรวจพระ คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมของพระ หากมีการกระทำผิดศีล ผิดจากศาสนบัญญัติหรือเหมาะสม ก็ต้องมีบทลงโทษอย่างจริงจัง เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็น การสูบบุหรี่ การใบ้หวยซื้อหวยหรือแม้แต่การขี่ช้างรวมไปถึงการอวดอุตริในรูปแบบต่างๆ
         ‘ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่ควรจะต้องมีการบังคับใช้ในรูปแบบกฎหมายต่อไป หากจะมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจริงๆ’

คำตอบ:
         ‘‘ดร.เจิมศักดิ์ควรต้องแยกระหว่างกฎหมายแม่คือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกคือพระราช บัญญัติต่างๆ ซึ่งจะมีผลตามมา  กฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นแค่รับรองสถานภาพว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ แต่กฎหมายลูกคือพระราชบัญญัติต่างๆ นั้น ชาวพุทธต้องกระทำด้วยความเหมาะสม จะไปบังคับให้ใครที่เป็นพุทธมามกะรักษาศีลห้ากันหมด ใครกินเหล้าผิดกฎหมายอย่างที่นายเจิมศักดิ์คิดไปเองแทนชาวบ้านเขาไม่ได้
         วัตถประสงค์ในการออกพระราชบัญญัติเสริม(กฎหมายลูก) ก็คือ .1.ส่งเสริมการศึกษาสงฆ์ 2.ส่งเสริมการปกครองสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3.ส่งเสริมการเผยแผ่ให้มีประสิทธิภาพ  โดยเฉพาะประเด็นปกครอง ต้องพยายามเน้นออกกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย หรือส่งเสริมให้พระภิกษุปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น  และสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้อย่างเด็ดขาด  โดยเฉพาะภิกษุที่ต้องอาบัติปาราชิก เมื่อถูกจับสึกต้องถูกปรับและจองจำด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ปัญญาชนชาวพุทธต้องมาร่วมถกร่วมพิจารณากันตามความเหมาะสม และต้องตระหนักว่าคนเรามีกรรมเป็นของตน มีสติปัญญาต่างกัน พระพุทธศาสนาเปรียบด้วยบัวสี่เหล่า จะฝืนให้ทุกคนปฏิบัติเคร่งครัดเท่ากันหมดย่อมเป็นไปไม่ได้    การที่ดร.เจิมศักดิ์อ้างว่าถ้าบัญญัติ ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ แล้ว รัฐธรรมนูญจะบังคับให้ทุกคนรักษาศีล 5  ใครละเมิดศีล 5 ถือว่าผิดกฎหมาย  เป็นสิ่งที่นายเจิมศักดิ์คิดไปเอง  คิดไปคนเดียวไม่พอ ยังเอาความคิดแนวนี้ไปหาแนวร่วมให้เข้าใจผิดกว้างขวางอีกด้วย’


ข้อที่ 4: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกล่าวว่า
     
         ‘‘แต่ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือท่าทีและการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์และแนวร่วมบางกลุ่ม ที่ก่อให้เกิด ผลกระทบไปไกลยิ่งกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา แต่ล่วงเข้าไปถึงการเดินเกมการเมือง การเคลื่อนไหวกดดันรัฐธรรมนูญที่ว่าหากไม่มีการบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะเคลื่อนไหว “คว่ำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” โดยไม่สนใจว่าในมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนอื่นๆ เพียงใดก็ตาม เป็นการสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นประโยชน์แก่ใคร ก็น่าสงสัย และยิ่งน่าสงสัยเมื่อปรากฏว่า แกนนำบางกลุ่มมีความสัมพันธ์และมีความเป็นมาที่น่าฉงน’

คำตอบ:
         ‘‘พระสงฆ์(หรือพุทธบริษัท)ที่ร่วมชุมนุมเห็นพ้องต้องกันว่าการเรียกร้องให้บัญญัติคำว่า ‘พระพุทธ ศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ จะนำไปสู่การปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้ดีขึ้นแน่นอน ถ้าไม่มีการบัญญัติพระพุทธศาสนาก็จะขาดโอกาสหนึ่งในการปฏิรูป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกดดันให้คณะกรรม การร่างรัฐธรรม ทั้งสสร.และกมธ.รับรอง
ถ้าอธิบายเหตุผลทุกอย่างแล้ว ปรากฏว่าสสร.และกมธ.ไม่ฟัง(ไม่ยอมฟัง) เพราะปักธงไว้เรียบร้อยว่าจะไม่ยอมบัญญัติ  คณะพุทธบริษัทที่ประท้วงก็ต้องคว่ำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมีสิทธิ์กระทำเช่นนั้นได้
         ‘เวลานี้ รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม  โดยเฉพาะก็กลุ่มตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ  เพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถอำนวยประโยชน์ให้ได้อย่างดีที่สุด  เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว  บ้านเมืองจะพัฒนาเจริญขึ้นเพราะรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น ประชาชนจากหลายวงการ อาทิ กลุ่มสิทธิสตรี, กลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์, กลุ่มคณะผู้ต้องการให้มีการปฏิรูปสื่อ ฯลฯ จนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องมีโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง (สรรป) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนร่วมคิดร่วมพัฒนาร่างรัฐธรรมนูญ
         ‘แกนนำพระสงฆ์และพุทธบริษัทที่ร่วมประท้วงเป็นระดับนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในการสอนวิชาศีลธรรม, บริหารมหาวิทยาลัยและหลายท่านทำงานเผยแผ่ในต่างประเทศ  และขณะนี้ได้ร่วมกันทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 300 องค์กรทั่วประเทศ  มีพระสงฆ์ระดับโฆษกมหาเถรสมาคม, มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว), สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) ฯลฯ ให้การอุปถัมภ์, นับเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังขับเคลื่อนวงการพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน ถือว่าเป็นตัวแทนพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ
ได้เพราะมาจากทุกจังหวัด  เมื่อพุทธบริษัทเหล่านี้เรียกร้อง  กมธ.หรือสสร.ควรต้องรับฟังและนำรับไปปฏิบัติ  ไม่ใช่
ดึงดันจะร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ฟังเสียงบุคคลเหล่านี้  โดยขาดวิจารณญาณของนักประชาธิปไตย กล่าวคือไม่ยอมรับฟังเสียงของประชาชน  กรณีพุทธบริษัทกลุ่มก็เหมือนตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มสิทธิสตรี, กลุ่มต้องการเห็นการปฏิรุปสื่อ ฯลฯ ถ้าสสร. ไม่ยอมฟังความเห็นเลย  กลุ่มเหล่านี้ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน’

ข้อที่ 5: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกล่าวว่า

         ‘‘จึงไม่แปลกใจ เมื่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากวัดธรรมกาย ถึงขนาดว่าอาจจะนำคนเข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวด้วยเรือนแสนคน ซึ่งหากพิจารณาปูมหลังของวัดธรรมกาย ก็จะเห็นว่ามีความสัมพันธ์กับแกนนำของคนในระบอบทักษิณ อย่าลืมว่า ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะถูกรัฐประหาร ก็ได้ไปใช้สถานที่วัดธรรมกายปราศรัยการเมืองต่อหน้าผู้คนจาก อบต.หลายหมื่นคน และหลังจากนั้นไม่นาน อัยการก็ถอนฟ้องในคดีที่ “ธรรมชโย” ตกเป็นจำเลย ทั้งๆ ที่คดีกำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลยุติธรรม  ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการเคลื่อนไหว ไม่รับร่างประชามติ หากไม่บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่มีการพูดถึงผลการบังคับใช้ที่ตามมา ทั้งๆ ที่ เป็นแก่นของการทำนุบำรุงความเจริญของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เป็นเรื่อง “การเมือง” หรือ “การศาสนา” ?

คำตอบ
         ‘‘ดร.เจิมศักดิ์เป็นพวกด่วนสรุป ข้อมูลหลักฐานไม่ชัดเจน          แต่ชอบพูดในเชิงยืนยัน (affirmative statement) ซึ่งขัดหลักนักวิชาการ ในสายตาผมและปัญญาชนชาวพุทธจำนวนมากที่เห็นด้วยกับการประท้วง  ธัมมชโยได้รับการตัดสินที่ขัดสายตามาก  ข้อหาปาราชิกนั้น แม้จะยอมรับสารภาพและยอมคืนทรัพย์สินที่ยักยอกไปก็ไม่หลุดพ้นไปได้  ต้องสึกสถานเดียว      การที่กระบวนการยุติธรรมอ้างเหตุผลเพื่อสมานฉันท์ปล่อยตัวเท่ากับไม่เคารพหลักพระธรรมวินัย นี่คือจุดอ่อนการปกครองสงฆ์ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเอาอำนาจรัฐมาแทรกแซงหลักพระธรรมวินัยซึ่งเทียบเท่า ‘กฎหมายรัฐธรรมนูญ’ ของสงฆ์
ถ้ามีการบัญญัติว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’  เราสามารถออกกฎหมายลูก ให้จัดการพระสงฆ์ที่ต้องอาบัติปาราชิก ต้องสึกในทันที และนอกจากนั้น ยังต้องถูกจำคุกและปรับด้วยได้ ผมยอมรับว่าวัดพระธรรมกายมีส่วนส่งเงินมาช่วยสนับสนุน    แต่ประเด็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญต่อชาวพุทธทุกคน  การบริจาคเงินก็มาจากหลายแห่ง จากประชาชนทั่วไปก็มี จากวัดต่างๆ ก็มีและจากกลุ่มองค์กรชาวพุทธจำนวนมากทั่วประเทศก็มี ฯลฯ ทุกคนมีสิทธิ์บริจาคได้
 การที่วัดพระธรรมกายบริจาคไม่ได้แปลว่าในอนาคต คณะพุทธบริษัทที่ร่วมชุมนุมจะยอมรับให้สำนักธรรมกายพยายามล็อบบี้สส.ที่เชื่อฟังตนออกกฎหมายรับรองสำนักธรรมกายเป็นนิกายหนึ่งแยกจากคณะสงฆ์ หลังจากที่มีการบัญญัติคำว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ แล้ว  ปัญญาชนระดับแกนนำทั้งพระทั้งฆราวาสที่ชุมนุมต่างก็รู้กันดีว่าประเด็นธรรมกายมีหลายข้อที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ  ซึ่งก็ต้องแยกจัดการเป็นรายกรณีไป
         ‘กล่าวโดยสรุป  ผมไม่เคยเห็นด้วยกับกรณีปล่อยธัมมชโยด้วยเหตุผล สมานฉันท์  แต่ว่ากรณีนี้ต้องมีการพิจารณาแยกต่างหากจากรณีเรียกร้องรัฐธรรมนูญ  ต้องยอมรับว่าบางครั้งกลุ่มอำนาจเก่าก็มีส่งคนเข้ามาสังเกตการณ์ แต่ปัญญาชนแกนนำพุทธบริษัทที่ชุมนุมได้กล่าวตักเตือนบ่อยครั้งว่าห้ามนำการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง’


ข้อที่6: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกล่าวไว้ว่า
     
     
         ‘‘ใช่หรือไม่ว่า หากทำให้ศาสนาเป็น “ศาสนาประจำใจ” ของคนไทยทุกคนได้ หรือนำหลักธรรมของศาสนาไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง ย่อมจะเป็นผลดีต่อประเทศชาติอย่างแน่นอนที่สุดแต่การบัญญัติให้ “พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” แบบลอยๆ โดยไม่มีการบังคับใช้ทางกฎหมาย และศาสนบัญญัติตามมาด้วย จะมีผลทำให้ความเป็นศาสนาประจำใจของคนไทยในทุกๆ ศาสนา มากขึ้น หรือลดลงอย่างไร?  หรือการไม่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ จะมีผลทำให้ความเป็นศาสนาประจำใจลดน้อยลงกว่า เดิมหรือไม่?  อะไรและทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดศาสนาประจำใจของคนไทยทั้งชาติ?’
   
คำตอบ:
         ‘‘ดร.เจิมศักดิ์เข้าข่ายพวกอุดมคตินิยม อยากให้ประชาชนมีศาสนาประจำใจแต่ไม่ได้พิจารณาสภาพที่เป็นจริงว่าจะเป็นไปได้อย่างไร? และจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนมีศาสนาประจำใจอย่างแท้จริง?พูดสั้นๆ คือไม่พยายามสร้างเหตุให้บังเกิดผล  พูดอีกนัยก็คือเล็งผลเลิศไว้ก่อนโดยไม่คิดสร้างเหตุ ในขณะที่พุทธบริษัทพยายามสร้างเหตุเพื่อให้เกิดผลดีเท่าที่จะเป็นไปได้ การบัญญัติคำว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะก็ทำให้เกิดการร่างกฎหมายลูกในรูปพระราชบัญญัติต่างๆ ซึ่งส่งผลดีต่อพระพุทธศาสนา ดังตัวอย่างที่ดร.เจิมศักดิ์คิดไว้คร่าวๆ ทั้ง ๗ ข้อข้างต้น
แต่ประเด็นที่ผมต้องการให้เกิดผลมากที่สุดก็คือ
         ‘1.อยากเห็นรัฐเอาใจใส่ต่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงโดยการให้ทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริม
ให้มีครูสอนศีลธรรมทุกๆ โรงเรียนทั่วราชอาณาจักร ไม่ใช่เอาครูจบสังคมศึกษา, พลศึกษา ฯลฯ มาสอนดังที่เป็นในปัจจุบัน
         ‘2.ออกพระราชบัญญัติลงโทษผู้ต้องอาบัติปาราชิก ทั้งจำทั้งปรับ เมื่อถูกจับสึกแล้ว
         ‘3.ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทุกระดับชั้น อย่างมีประสิทธิภาพ มีสื่อและอุปกรณ์เผยแผ่พร้อมสรรพ’
ผมไม่เชื่อว่าถ้าบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญแล้ว ปัญหาศีลธรรมจะหมด แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาอยู่ประจำใจคนมากขึ้น เพราะจะทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนามีประสิทธิภาพมากขึ้น ในเวลาเดียวกันก็สามารถกำจัด พระทุศีลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น’

ข้อที่ 7: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกล่าวไว้ว่า

         ‘‘หากมีเจตนาที่มุ่งหวังจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงใจ โจทย์ของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่น่าจะเป็นการนำพาไปสู่ทางตันของสังคม ในลักษณะว่า ถ้าไม่บัญญัติจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่ควรจะเป็นการสร้างเงื่อนไข หาทางออก หรือทางเลือกสร้างสรรค์กว่านั้น เช่น หากบัญญัติแล้วจะต้องมีกฎหมายบังคับใช้ตามมาด้วยอย่างไร?  หรือหากไม่บัญญัติแล้ว  จะมีมาตรการหรือกฎ หมายบังคับอย่างไรเพื่อความเจริญ รุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา?...อย่าลืมว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา!”

คำตอบ
         ‘‘ผมคิดในทางตรงกันข้าม  ถ้ามองอย่างปัญญาชนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการบัญญัติใน รัฐธรรมนูญดังที่ผมอธิบายมาข้างต้น จะเห็นว่าการบัญญัติคำว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ในรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้เกิดกฎหมายลูกหรือพระราชบัญญัติต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อพัฒนาทั้งการศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามมา  ถ้าเป็นไปตามที่คาดหวังดังนี้ การบัญญัติในรัฐธรรมนูญก็เป็นวิธีผ่าทางตันอย่างหนึ่งในวงการสงฆ์ เพราะจะทำให้อธิกรณ์สำคัญๆ ต่างๆ เช่น กรณีธรรมกายและสันติอโศก สามารถจบได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับหลักพระธรรมวินัย   ถ้าเป้าหมายของการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพดังกล่าวนี้จริง และปรากฏว่า คณะกรรมการสสร.และกมธ.ไม่เอาด้วย ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่วงการพระพุทธศาสนาจะขาดโอกาส ที่จะได้รับการปฏิรูปอย่างที่ควรจะเป็น  กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยไม่ได้สร้างโอกาสซึ่งจะเอื้ออำนวยให้การรักษาพระธรรมวินัยของพระสงฆ์มีความเคร่งครัดดียิ่งขึ้น  กำจัดคนชั่วผู้ทุศีลได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น
         ‘ดังนั้น หากไม่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยไม่ได้ส่งเสริม พระพุทธศาสนาอย่างที่ควรจะเป็น  เราชาวพุทธจึงควรลงมติคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญ  เพราะรัฐต้อง การให้ประชาชนร่วมคิดร่วมสร้างรัฐธรรมนูญ ตามครรลองประชาธิปไตยแต่เมื่อกลุ่มชาวพุทธได้ร่วม คิดร่วมเสนอความเห็นแล้ว  กลับไม่นำเอาความคิดไปปรับปรุงให้รัฐธรรมนูญส่งผลดีต่อพระพุทธศาสนาโดยรวม  ดังนั้น จึงป่วยการที่รัฐบาลจะมานำเสนอไอเดียให้ร่วมคิดร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ ไม่เป็นจริงในภาคปฏิบัติ
         ‘ขอย้ำอีกทีว่าประเด็นที่ชาวพุทธหลายคนกลัวว่าถ้าบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว สำนักธรรมกายจะล็อบบี้สส.ในพรรคบางพรรคเพื่อออกกฎหมายแยกตัวเป็นอิสระ  นี้เป็นสิ่งที่ผมเองก็ยอมไม่ได้เช่นเดียวกัน  พฤติกรรมสำนักธรรมกายที่แสดงธรรมวินัยผิดจากหลักการดั้งเดิมในหลายๆประเด็น เป็นสิ่งที่คณะสงฆ์เองก็ต้องดำเนินการตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเฉียบขาด หลังจากที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ‘พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’ ไว้แล้วด้วย
         ‘การร่างกฎหมายลูกใดๆ ตามมาจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในหลายๆ ประการ  การที่ดร.เจิมศักดิ์เอากรณีประเทศที่ยกให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ แล้วเอาบทบัญญัติในศาสนาอิสลามมาใช้บังคับ แล้วคิดว่าชาวพุทธต้องพยายามเอาศีล ๕ มาบังคับให้ประชาชนรักษา เป็นแนวคิดดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทองเอง   ประเทศพม่าประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2517 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  ก็ไม่เคยบังคับให้ประชาชนต้องรักษาศีล 5  อังกฤษประกาศให้ศาสนาคริสต์นิกาย Church of England เป็นศาสนาประจำชาติก็ไม่เคยบังคับให้ประชาชนต้องเข้าโบสถ์อะไรเลย ฯลฯ  การจะออกกฎหมายลูกอะไรตามมา ผู้ร่างจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในทางภาคปฏิบัติด้วย  เพราะพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นศาสนาแห่งการบังคับ อย่างไร้อิสรภาพในการคิดหาเหตุผล’

         ‘ท้ายนี้ ผมใคร่ขอเรียนบรรดาท่านพุทธบริษัทว่าเหตุผลที่ผมนำเอาข้อคิดเห็นของดร.เจิมศักดิ์มาอธิบายแก้เพราะได้ข่าวจากวงการชาวพุทธด้วยกันที่ติดตามการทำประชาพิจารณ์อย่างใกล้ชิดว่าการทำประชาพิจารณ์ ไม่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างรอบด้านดังที่ผมยกมาให้พิจารณา  คณะ กรรมการไม่ได้เอาคนที่มีความเห็นสนับสนุนไปให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างรอบด้านว่าบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วจะได้อะไร  ก่อนจะมีการลงประชามติ

         ‘ตรงข้าม กลับมีข่าวว่าหลายครั้งทำในลักษณะมัดมือชก  เช่น ปรกติทำประชาพิจารณ์ 15 ประเด็น แต่ที่เชียงรายทำ 3 ประเด็น  หรือที่จังหวัดลำพูน  ประชาชนทั่วไปอยากเข้าไปฟัง แต่ผู้จัดไม่ให้เข้า อ้างว่าไม่มีบัตรเข้า  ที่จังหวัดนครสวรรค์ก็มีการเปลี่ยนวันจัดกะทันหันโดยไม่แจ้งให้ประชา ชนรู้ จากวันที่ 10 พฤษภาคม มาเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม    แต่ประชาชนพอรู้ก็กรูกันไปเข้าฟัง แต่ผู้จัดไม่ให้เข้าอ้างว่าไม่มีบัตร, ที่จังหวัดนครสวรรค์มีการเกณฑ์เอานักศึกษาราชภัฏมาโหวตมาช่วยค้านช่วยโหวต ฯลฯ
         ‘ผมไม่อยากเชื่อว่าข่าวที่ว่าเหล่านี้เป็นจริง  แต่ถ้าเป็นจริงอย่างที่กล่าวหา  ก็แปลว่าคณะ กรรมการที่จัดทำประชาพิจารณ์เป็นผู้ขวางการพัฒนาพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเสียเอง   ในฐานะพุทธศาสนิกชนที่เชื่อกฎแห่งกรรม ผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่าถ้าผลลงเอยว่าในที่สุดแล้วไม่มีการบัญญัติว่า  ’พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’  ในรัฐธรรมนูญซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาพระพุทธศาสนาต่างๆนานาตามมา คงเป็นบาปอกุศลมหันต์แก่ผู้ขัดขวาง เพราะเท่ากับเป็นการเบียดเบียฬพระพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัวฯ ...ฯ                  

 ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์

2 ความคิดเห็น:

  1. ภูมิใจในความเป็น ดร. ของตัวเองมาก
    เที่ยวสร้างบทบาทเด่นให้ตัวเองไปทั่ว
    ไม่มองไม่สำรวจตัวเองเลย น่าสมเพชเวทนาแท้

    ตอบลบ
  2. ภูมิใจในความเป็น ดร. ของตัวเองมาก
    เที่ยวสร้างบทบาทเด่นให้ตัวเองไปทั่ว
    ไม่มองไม่สำรวจตัวเองเลย น่าสมเพชเวทนาแท้

    ตอบลบ